Support
4life Immunity
0816516654
Your shopping cart
ดูตะกร้าสินค้าของคุณ
ไม่มีสินค้าในตะกร้าของคุณ

โภชนาการสำหรับผู้ติดเชื้อ HIV

วันที่: 2011-09-11 11:50:20.0



ดร.ปริญญา อรุโณทยานันท์   กลุ่มวิจัยและพัฒนาเภสัชกรรม
 

จากการได้เข้าร่วมประชุมวิชาการในงานประชุมนานาชาติ เรื่องโรคเอดส์ครั้งที่ 15(XV International AIDS Conference) ที่จัดในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11-16 ก.ค. 47 นั้น นอกจาก
การให้ความสำคัญด้านยารักษาโรค ได้แก่ ยาต้านไวรัสเอดส์ ซึ่งองค์การเภสัชกรรมเองก็เป็นผู้นำ ในการพัฒนาและผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ที่มีคุณภาพ ราคาถูกแล้ว ยังมีโอกาสได้เห็นว่ามีการดูแลเรื่องโภชนาการสำหรับผู้ป่วยก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก นอกเหนือจากการใส่ใจแต่เรื่องยาอย่างเดียว จึงถือโอกาสนี้ประมวลความสำคัญของภาวะโภชนาการสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ดังนี้


ภาวะโภชนาการ

          คือการได้รับสารอาหารครบถ้วนเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย มีความสัมพันธ์โดยตรงต่อผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยที่มีอาการของโรคเอดส์แล้วดังแสดงในแผนภูมิข้างต้น  หากผู้ป่วยไม่สามารถได้รับอาหารที่มีประโยชน์เพียงพอและไม่สามารถรักษาน้ำหนักตัวไว้ได้ ก็จะทำให้ร่างกายอ่อนแอและการควบคุมอาการของโรคเป็นไปได้ยากขึ้น


การคำนวณทางสถิติ

         มีสาเหตุหลายประการที่ทำให้น้ำหนักตัวลดได้แก่ อาการเบื่ออาหาร การมีแผลในปากหรือลำคอ ซึ่งทำให้รับประทานทานอาหารลำบาก อาการท้องเสีย การติดเชื้อซึ่งทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานมากขึ้น ผลข้างเคียงจากการใช้ยา อาการเครียดกังวล หรือไม่สามารถจัดหาอาหารได้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ซึ่งพลังงานเป็นสิ่งจำเป็นในภาวะที่ร่างกายเจ็บป่วย เมื่อน้ำหนักตัวลดร่างกายอ่อนเพลีย ความสามารถในการต่อต้านการติดเชื้อจะลดลงอีก ทั้งรูปร่างหน้าตา ร่างกายที่ผอมลง  ก็ยังทำให้สุขภาพจิตแย่ลงไปอีกด้วย


อาการท้องเสีย

         อาการท้องเสียพบได้บ่อยในผู้ติดเชื้อ HIV ทั้งนี้มีสาเหตุจากผลข้างเคียงของการใช้ยาต้านไวรัสเอดส์ โดยเฉพาะยากลุ่ม protease inhibitors, ddI, และ abacavir หรือยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาอาการติดเชื้ออื่นๆ ในผู้ป่วยที่มีระดับ CD4 ต่ำ อาการท้องเสียอาจเกิดได้จากการติดเชื้อฉวยโอกาสโดยตรง

          อาการท้องเสียที่เกิดจากการใช้ยาอาจหายไปได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ อาหารรสจัด อาหารที่มีไขมันปริมาณสูง และอาจรับประทานเครื่องดื่มที่ช่วยทดแทนการสูญเสียเกลือแร่และน้ำ กล้วย มันฝรั่ง เนื้อไก่และปลา สามารถทดแทนการสูญเสียโปแตสเซียมได้ดี


โภชนาการสำหรับผู้ป่วย HIV/AIDS

         อาหารที่รับประทานตามปกติอาจจะเพียงพอที่จะให้คุณค่าทางโภชนาการแก่ผู้ติดเชื้อ HIVอยู่แล้ว แต่ผู้ป่วยโรคเอดส์มักจะมีอาการเบื่ออาหารและทานอาหารได้ยากเนื่องจากแผลในปากและคอโดยเฉพาะเมื่อเริ่มต้องได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ ผลข้างเคียงจากการใช้ยาอาจส่งผลให้กระบวนการเผาผลาญอาหารของร่างกายโดยเฉพาะไขมันมีการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย ผู้ป่วยควรจะต้องรับประทานให้มากๆ เพื่อให้ร่างกายพร้อมต่อสู้กับภาวะความเจ็บป่วย และทดแทนน้ำหนักที่สูญเสียไปอาหารที่รับประทานควรจัดให้ครบหมู่และมีความสมดุล และเลือกรับประทานชนิดอาหารในแต่ละวันให้หลากหลาย ครอบคลุมกลุ่มของอาหาร ได้แก่


อาหารกลุ่มแป้ง:     เช่น ข้าว ขนมปัง ธัญพืช เผือก เป็นต้น จะให้พลังงานแก่ร่างกาย รวมถึงเกลือแร่ วิตามินและกากใยอาหาร ผู้ป่วยควรทานอาหารกลุ่มนี้ในทุกมื้ออาหาร โดยทานวันละ 4-6 ส่วน (1 ส่วน ประมาณเท่ากับข้าวหนึ่งถ้วย หรือขนมปัง 1 แผ่นหรือธัญพืช เช่น ซีเรียล 1 ชาม)


ผักและผลไม้: ให้วิตามิน เกลือแร่ และ กากใยอาหาร ควรรับประทานทุกวัน วันละ 5 ส่วน(1 ส่วน ประมาณเท่ากับผลไม้ 1 ผล หรือผักสดชามใหญ่ หรือผลไม้แห้ง 1 ถ้วย หรือน้ำผลไม้คั้นสด1 แก้ว)


เนื้อสัตว์ ไข่ ถั่ว: ให้ทั้งโปรตีน เกลือแร่ และวิตามิน ทานวันละ 2-3 ส่วนทุกวัน (1 ส่วน
ประมาณเท่ากับไข่ 2 ฟองเล็ก หรือเนื้อหมู ไก่ 100 กรัม หรือ เนื้อปลา 150 กรัม)


ผลิตภัณฑ์จากนม: เช่น นมสด โยเกิร์ต เนยแข็ง ซึ่งเป็นแหล่งของวิตามิน เกลือแร่ และแคลเซียม ควรทานวันละ 3 ส่วน (1 ส่วน ประมาณเท่ากับนม 1 แก้ว หรือโยเกิร์ต 1 ถ้วย หรือเนยแข็ง 1 แผ่น)


ไขมัน: จากน้ำมันพืชที่ใช้ปรุงอาหาร เนย เนยเทียม รวมถึงไขมันที่อยู่ในเนื้อสัตว์ ซึ่งจะ
ให้พลังงาน กรดไขมันที่จำเป็น วิตามินที่ละลายในไขมัน เช่น วิตามิน A, D, E, K แคลเซียมและ
ฟอสเฟต อย่างไรก็ดีหากทานอาหารพวกไขมันมากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดภาวะโรคอ้วน และโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ น้ำมันจากปลาซึ่งมีกรดไขมัน omega-3 สามารถช่วยลดระดับไขมันที่เป็นอันตรายต่อร่างกายเช่น triglycerides และ LDL cholesterol และเพิ่มHDL cholesterol ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายได้

         เนื่องจากผู้ป่วยอาจทานอาหารได้ยาก การเปลี่ยนรูปแบบการทานจากมื้อใหญ่ๆ มาเป็นมื้อเล็กๆ แต่ทานบ่อยๆ จะช่วยให้ทานได้ง่ายขึ้น กระเพาะอาหารดูดซึมสารอาหารได้และควรทาน
อาหารอ่อนๆ ที่ทานได้คล่องคอ

    ร่างกายของผู้ติดเชื้อ HIV ที่ยังไม่แสดงอาการ จะมีความต้องการพลังงานจากอาหาร
มากขึ้นกว่าเดิมประมาณ 10% เพื่อคงน้ำหนักตัวให้คงที่และจะต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอีก 20-30% เมื่อเริ่มแสดงอาการหรือเป็นโรคเอดส์แล้ว ส่วนผู้ป่วยเด็กที่น้ำหนักตัวเริ่มลดจะต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอีกกว่า 50% เพื่อคงน้ำหนักตัวให้คงที่

    แม้ว่าในขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาเพียงพอที่จะยืนยันปริมาณโปรตีนและไขมันที่
ต้องการเป็นตัวเลขชัดเจน เมื่อติดเชื้อ HIV ผู้ป่วยอาจต้องทานอาหารกลุ่มโปรตีนมากขึ้น 50-100%ของปริมาณปกติ คือประมาณ 85 กรัมต่อวันสำหรับผู้ชาย หรือ 72 กรัมต่อวันสำหรับผู้หญิง เพื่อช่วยในการสร้างกล้ามเนื้อที่สูญเสียไป และควรมีอาหารกลุ่มที่ให้พลังงานเพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำหนักตัววิตามินและเกลือแร่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแต่ก็ควรจะได้มาจากการทานอาหารให้เพียงพอ เพราะการทานวิตามินเสริมปริมาณสูง เช่น วิตามินเอ สังกะสีหรือเหล็ก อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้


โภชนาการสำหรับผู้ป่วยที่ทานยาต้านไวรัสเอดส์

         ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์มักจะพบผลข้างเคียง คือภาวะผิดปกติของไขมัน (lipodystrophy) โดยรูปร่างของผู้ป่วยอาจเปลี่ยนแปลง ไขมันในเลือดสูงขึ้น และอาจส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจหรือเบาหวานได้ เมื่อผู้ป่วยเริ่มได้รับยาต้านไวรัสเอดส์ ควรจะลดอาหารกลุ่มไขมันโดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว ซึ่งจะมีมากในกลุ่มเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม และไขมันอิ่มตัวจากน้ำมันปาล์มและมะพร้าว เมื่อพบว่าผู้ป่วยมีภาวะไขมันในเลือดสูง จะต้องปรับอาหารโดยเน้นการทานผักและผลไม้ ประมาณ 5 ส่วนต่อวัน ร่วมกับการออกกำลังกาย เช่น การวิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ซึ่งจะช่วยเสริมการสร้างกล้ามเนื้อและผ่อนคลายความเครียดและทำให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น


อาหารเสริม

ผู้ติดเชื้อ HIV จำนวนมาก หันมาทาน วิตามิน อาหารเสริม รวมถึงยาสมุนไพรมากขึ้น เพื่อหวังว่าจะช่วยให้ภูมิต้านทานในร่างกายดีขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันมาก เพราะคงไม่สามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนได้ง่ายนัก โดยเฉพาะเมื่อเริ่มให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ ผู้ป่วยอาจทานอาหารเสริมหลากหลายชนิด และเปลี่ยนแปลงชนิดบ่อยๆ ทำให้การติดตามผลเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตามมี การศึกษาบางอย่างชี้ว่าอาหารเสริมบางชนิดมีผลต่อการรักษา เช่น สารสกัดจากกระเทียมซึ่งเชื่อว่าจะช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับหัวใจ มีผลทำให้ประสิทธิภาพการรักษาด้วยยา Saquinavir ลดลง และอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยากลุ่ม Protease inhibitor ตัวอื่นๆ เช่นกัน อีกตัวอย่างหนึ่งคือ สมุนไพร
St. John’s wort ซึ่งใช้มากในต่างประเทศ พบว่ามีผลลดระดับยาในเลือดของ Indinavir ซึ่งเป็นยา
กลุ่ม Protease inhibitor เช่นกัน และอาจส่งผลต่อยากลุ่ม NNRTIs ด้วย

    ในประเทศไทยเองก็มีผู้ป่วยบางกลุ่มสนใจใช้สมุนไพรหลายชนิดรักษาเสริมกับการใช้ยา
ต้านไวรัสเอดส์ แต่ทั้งนี้พึงระลึกเสมอว่าสมุนไพรก็มีสารซึ่งอาจจะมีผลเปลี่ยนแปลงการรักษาของยาได้เช่นกัน ทางที่ดีหากจะใช้สมุนไพรร่วมในการรักษาก็ควรแจ้งให้แพทย์ผู้ดูแลการรักษาทราบ เพื่อติดตามผลด้วย

    ผู้ป่วยมักจะได้รับคำแนะนำให้ดูแลการทานอาหารให้ครบถ้วน และอาจทานวิตามินรวมได้
บ้าง และแม้ว่าจะมีการแนะนำว่า วิตามินบีรวม วิตามินซี และวิตามินอี สามารถช่วยเสริมภูมิคุ้มกันได้  ป้องกันภาวะท้องเสียในเด็ก และเป็นประโยชน์สำหรับแม่ที่ติดเชื้อ HIV แต่ก็ไม่แนะนำให้รับประทานวิตามินหรืออาหารเสริมในปริมาณสูงมากๆ (megadosage) เกินกว่าปริมาณที่แนะนำต่อวัน ทั้งนี้ วิตามินปริมาณสูงมากเกินไปอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายได้ เช่น


วิตามินเอ: ปริมาณสูงเกินไป เช่นเกิน 9,000 ไมโครกรัมในผู้ชาย หรือ 7,500 ไมโครกรัม
ในผู้หญิง จะส่งผลเสียต่อตับและกระดูก อาเจียน และ ปวดศีรษะ


วิตามินซี: เกินกว่า 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน อาจทำให้เกิดโรคนิ่วในไต ท้องเสียและหลอด
เลือดแข็งตัว พบว่าปริมาณยา Indinavir ในกระแสเลือดจะลดลงในผู้ป่วยที่รับประทานวิตามินซี
ปริมาณสูง ทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาลดลงได้


วิตามินอี: เกินกว่า 800 มิลลิกรัมต่อวัน ก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้โดยเฉพาะเมื่อทานยา
Amprenavir


สังกะสี (Zinc): ปริมาณเกินกว่า 75 มิลลิกรัมต่อวัน มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดภาวะพร่อง
ทองแดง (copper) neutropenia และโลหิตจาง


ซีลีเนียม (Selenium): เกินกว่า 750ไมโครกรัมต่อวัน เกี่ยวข้องกับการกดภูมิต้านทานของร่างกาย


วิตามินบี 6: มากกว่า 2 กรัมต่อวัน อาจส่งผลทำลายเส้นประสาทและพบว่าขนาด 50 มิลลิกรัมต่อวัน สัมพันธ์กับภาวะปลายประสาทอักเสบ


แคลเซียม: ขนาดมากกว่า 1.5 มิลลิกรัม สัมพันธ์กับภาวะแคลเซียมในเลือดสูงเกินไป


เหล็กและโฟเลท (Iron, Folate): องค์การอนามัยโลก แนะนำให้แม่ติดเชื้อ HIV ที่ตั้งครรภ์ ทานเหล็กวันละ 60 มิลลิกรัมและโฟเลท วันละ 400 มิลลิกรัม ในช่วง 6 เดือนของการตั้งครรภ์
เช่นเดียวกับหญิงตั้งครรภ์ทั่วไป เพื่อป้องกันภาวะโลหิตจาง และให้ทานเพิ่มเป็นวันละสองครั้ง เพื่อรักษาภาวะโลหิตจางขั้นรุนแรง

    ดังนั้นหากผู้ป่วยคิดจะรับประทานวิตามิน อาหารเสริมหรือสมุนไพรชนิดใดควบคู่กับการ
รักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแจ้งให้แพทย์ผู้ดูแลการรักษาทราบทุกครั้ง
เพื่อจะได้ติดตามการรักษาได้อย่างใกล้ชิด


แอลกอฮอล์

การดื่มเหล้า และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้

ร่างกายฟื้นจากการติดเชื้อได้ยากขึ้น อีกทั้งยังมีผลทำลายตับและก่อภาวะตับอักเสบด้วย ผู้ติดเชื้อHIV เนื่องจากตับเป็นอวัยวะที่สำคัญมากเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงและออกฤทธิ์ของยาต้านไวรัสเอดส์ แอลกอฮอล์ส่งผลต่อการดูดซึมของยาต้านไวรัสเอดส์บางชนิด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังส่งผลต่อจิตใจทำให้เกิดอาการซึมเศร้า ทำให้ทานอาหารได้น้อยลง ในกรณีที่ผู้ป่วยดื่มแอลกอฮอล์มากจนอาเจียนภายใน 1 ชั่วโมงหลังทานยา ก็ควรจะทานยาใหม่อีกครั้งเพื่อรักษาระดับยาในเลือดป้องกันการดื้อยา ผู้ป่วยควรเลิกบุหรี่ด้วยเนื่องจากทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร


น้ำ

ควรดื่มน้ำประมาณ 2 ลิตรต่อวัน เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ช่วยในการทำงานและป้องกันผลข้างเคียงของยาบางชนิดได้ เช่น Indinavir เมื่อผู้ป่วยมีภาวะไข้ ท้องเสีย หรือสูญเสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย ก็ควรดื่มน้ำมากขึ้นเป็น 150-250 มิลลิลิตรทุก 15 นาที อาจดื่มน้ำผลไม้แทนได้ แต่ควรงดเหล้า ชา กาแฟ น้ำอัดลม เพราะมีส่วนทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ


อนามัยด้านอาหารสำหรับผู้ติดเชื้อ HIV

         ผู้ป่วยที่มีระดับ CD4 ต่ำกว่า 200 cell/mm3 มีแนวโน้มที่จะติดเชื้อหรือเกิดอาหารเป็นพิษได้ง่าย จึงควรใส่ใจต่ออนามัยในการปรุงอาหารให้มาก

- หลีกเลี่ยงการทานอาหารดิบ เช่น ปลาดิบ เนื้อที่ยังปรุงไม่สุกเต็มที่
- หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์จากนมที่ยังไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ
- หลีกเลี่ยงโยเกิร์ตหรืออาหารเสริมที่ประกอบด้วยเชื้อจุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือเครื่องดื่ม
ที่มีส่วนผสมของ Probiotic
- อาหารที่สุกแล้วตั้งทิ้งไว้นาน ควรนำมาอุ่นใหม่ก่อนทาน ไม่ควรทานอาหารที่ไม่ได้แช่เย็น
ค้างเกิน 1 วัน
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีราขึ้นแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม รวมถึงอาหารที่เลยวันหมดอายุแล้ว
- ล้างผักและผลไม้ให้สะอาดก่อนทาน
- เก็บแยกอาหารที่ยังไม่ได้ทำให้สุกกับอาหารที่สุกแล้วออกจากกันเป็นสัดส่วนเพื่อกันการ
ปนเปื้อนเชื้อจากอาหารดิบไปสู่อาหารสุก รวมทั้งดูแลความสะอาดของภาชนะ และอุปกรณ์ทำอาหาร
ด้วย
- อาหารที่ปรุงเสร็จแล้วหากจะเก็บในตู้เย็นเพื่อรับประทานต่อไปก็ไม่ควรจะเก็บเกิน 2 วัน
หากจะเก็บไว้รับประทานนานกว่า 2 วันควรแบ่งส่วนเก็บไว้ในช่องแช่แข็ง
- ผู้ป่วยที่มีระดับ CD4 ต่ำกว่า 200 cell/mm3 ควรดื่มน้ำที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว หรือหาก
ไม่สามารถหาได้อาจใช้น้ำที่ผ่านการต้มให้เดือดฆ่าเชื้ออย่างน้อย 5-10 นาทีแล้ว และเก็บในภาชนะ
ปิดสนิท เพื่อลดโอกาสติดเชื้อที่ปนเปื้อนมาในน้ำ สำหรับการดื่มหรือการเตรียมอาหาร และแปรงฟัน
ควรระวังการใช้น้ำประปาหรือน้ำแร่ที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนทานอาหาร
โภชนาการที่ดีจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยาวนานขึ้น
เอกสารอ้างอิง
1. Nutrient requirements for people living with HIV/AIDS. Report of a
technical consultation. World Health Organization, Geneva, 13–15 May 2003.
2. HIV/AIDS: A Guide for nutrition, care and support. Food and nutrition
technical assistance project. Academy for educational development, Washington
DC, 2001.
3. M. Carter. Nutrition. Information series for HIV-positive people. 5th ed.
NAM, London, UK. 2004.