Support
4life Immunity
0816516654
Your shopping cart
ดูตะกร้าสินค้าของคุณ
ไม่มีสินค้าในตะกร้าของคุณ

มะเร็งปอด

วันที่: 2010-08-11 14:08:50.0

มะเร็งปอดคืออะไร


            มะเร็งปอด เป็นโรคที่พบมากและเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ในประเทศไทย พบเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งตับในเพศชาย และพบเป็นอันดับ 4 ในเพศหญิง รองจากมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งตับ สาเหตุส่วนใหญ่ของมะเร็งปอดถึงร้อยละ 80-90 คือ การสุบบุหรี่ ดังนั้นมะเร็งประเภทนี้จึงสามารถป้องกันได้ ส่วนสาเหตุอื่นๆ ได้แ่่ก่ การสูดดมควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบ การต้องสูดดมฝุ่นแร่จากโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึุงมลพิษในอากาศเป็นระยะเวลานาน (แต่ก็ต้องระวังควันบุหรี่มือสองจากคนใกล้ชิด และชุมชนใกล้เคียง)

               มะเร็งปอด หมายถึง อุบัติการณ์ที่เซลในปอดมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วผิดปกติไม่สามารถควบคุมได้ และมีการเจริญเติบโตลุกลามรวมตัวกันเป็นกลุ่มเซลเนื้องอกที่มีขนาดโตขึ้นเรื่อยๆ (Tumor)
            สำหรับผู้ที่สงสัยว่าตนอาจเป็นมะเร็งปอดนั้น นพ.หฤษฎ์ แห่งรพ.บำรุงราษฎร์ ให้ข้อสังเกตว่า "ถ้ามีอาการไอเรื้อรัง ไอแห้งๆ ไอจับหืด ไอแบบมีเสมหะ โดยมีอาการอื่นร่วม เช่น น้ำหนักลด เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย มีไข้ และเจ็บหน้าอก แบบนี้ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน
            การป้องกันมะเร็งปอดนั้น นอกจากจะไม่สูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการได้รับสารพิษจากสิ่งแวดล้อมแล้ว การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานผักและผลไม้ให้เพียงพอ เน้นทานอาหารที่มีวิตามินซีและอีสูง รวมถึงตรวจเอ็กซเรย์ทรวงอกเพื่อหามะเร็งปอดเป็นประจำทุกปี ก็ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันมะเร็งได้เป็นอย่างดี

อ้างอิง  รพ. บำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุงเทพฯ



ค้นพบยีนสาเหตุของมะเร็งปอด

               วิทยาศาสตร์พิสูจน์มานานแล้วว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งปอด แต่การพิสูจน์ว่าเพราะเหตุใดนักสูบบางรายเป็นโรคมะเร็งปอด ขณะที่บางรายไม่เป็นนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายยิ่งกว่าจนถึงบัดนี้
               งานวิจัยชิ้นใหม่ที่ลงตีพิมพ์ในวารสาร Nature Genetics เผยถึงลักษณะเฉพาะของยีนที่ทำให้นักสูบบางรายมีความเสี่ยงต่อมะเร็งปอด มากกว่าคนอื่น โดยการทดสอบยีนในผู้ใหญ่กว่า 9 พันราย ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้สูบบุหรี่ ผู้ไม่สูบบุหรี่ และผู้ที่เคยสูบบุหรี่ นักวิจัยค้นพบลักษณะเฉพาะของยีนที่โครโมโซม 15 ถึง 2 ประการซึ่งสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดในผู้สูบบุหรี่บางราย
               นักสูบที่มีลักษณะเฉพาะของโครโมโซม 1 หรือ 2 แบบมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดมากกว่านักสูบที่ไม่มีตั้งแต่ร้อยละ 28 ถึง 81 ลักษณะเฉพาะของยีนดังกล่าวนี้พบทั้งในผู้ที่สูบบุหรี่ไม่มาก และผู้ที่เพิ่งสูบมาได้ไม่นาน
               สำหรับการสูบบุหรี่ ไม่ว่ามากหรือน้อยก็ไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น ผู้สูบบุหรี่ทั้งหมดมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่เคยสูบเลย เพราะฉะนั้น หากคุณยังไม่อาจเลิกสูบบุหรี่ได้ละก็ ลองปรึกษาแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการต่างๆ ในการเลิกบุหรี่ให้ได้อย่างเด็ดขาดต่อไป

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งปอด

               ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการใดที่จะแนะนำในการตรวจสอบมะเร็งปอดแบบง่ายหรือเืบื้องต้นด้วยตนเอง ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ก็ต่อเมื่ออาการกำเริบแล้ว การตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์จึงต้องมีการสอบประวัติถึงปัจจัยเสี่ยง เพื่อทำการรักษาในระยะต้น และ/หรือเพิ่มอัตราการรอดชีวิต

               มะเร็งปอดมี 2 ชนิด ที่พบมากในประเทศไทย ได้แก่ มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลลตัวเล็ก (Non-small cell lung cancer, NSCLC) มะเร็งปอดชนิดนี้พบได้มากประมาณ 80%ของมะเร็งปอด แม้การเจริญเติบโตของเซลมะเร็งจะไม่รวดเร็วเท่ากับชนิดเซลตัวเล็ก แต่ก็สามารถลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ ได้เช่นกัน

              อีกชนิดหนึ่ง คือ มะเร็งปอดชนิดเซลตัวเล็ก (Small cell lung cancer, SCLC) เป็นมะเร็งปอดชนิดที่พบได้น้อย ประมาณ20% ของมะเร็งปอดทั้งหมด แต่เป็นชนิดที่มีความรุนแรงมาก โอกาสการลุกลามของเซลมะเร็งไปยังอวัยวะส่วนต่างๆ มีมากถึง 70% เช่นอาจลุกลามไปที่กระดูก ปอดและสมอง เป็นต้น

อาการของมะเร็งปอดเป็นอย่างไร

              ผู้ป่วยมะเร็งปอดมักมีประสบการณ์ของอาการที่คล้ายๆ กัน ซึ่งอาการเหล่านั้นก็อาาจคล้ายกับโรคอื่นๆ ได้ อย่างไรก็ตาม หากคุณพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที

  • ไอ อาจมีเสมหะ หรือมีเลือดปน
  • หายใจสั้น
  • เจ็บบริเวณหน้าอก
  • เบื่ออาหาร
  • เพลีย เหนื่อยง่าย

             ในระยะที่โรคมีการแพร์กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ จะทำให้มีอาการผิดปกติเกิดขึ้นที่อวัยวะนั้นๆ เช่น มีอาการปวดกระดูกเนื่องจากเซลมะเร็งได้กระจายไปยังกระดูก เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปอด

              มะเร็งปอดเป็นโรคที่ทางการแพทย์ยังไม่สามารถหาสาเหตุหรืออธิบายได้ชัดเจนว่าเกิดจากสาเหตุใด หากแต่ค้นพบว่า ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคมะเร็งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่นพันธุกรรม และปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ เช่น สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ เป็นต้น

              ปัจจัยที่สามารถควบคุมได้เป็นปัจจัยที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพื่อป้องกันและลดการเสี่ยงจากการเกิดโรคมะเร็งปอด มีดังต่อไปนี้

               1. บุหรี่ เป็นสาเหตุหลักและพบว่ามีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญในการก่อให้เกิดความเสี่ยงของมะเร็งปอดทั้งในชายและหญิง แม้ว่าจะหยุดการสูบบุหรี่ไปแล้ว แต่ความเสี่ยงยังคงอยู่ นอกจากนี้ ผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่โดยการสูดดม (Second-hand Tobacco Smoke) ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดได้มากเช่นเดียวกัน

               2.สิ่งแวดล้อมที่เ็ป็นพิษ การเจริญเติบโตของสังคมเมืองและอุตสาหกรรมในปัจจุับัน ก่อให้เกิดก๊าซและมลภาวะทางอากาศมากมาย เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอด เช่น

  • แอสเบสทอส (Asbestos) เป็นวัสดุฉนวนกันความร้อน
  • เรดอน (Radon) เป็นก๊าซที่ไม่มีสีและกลิ่น พบได้ทั่วไปตามแหล่งดินในธรรมชาติ หรือบริเวณที่มีแร่ยูเรเนียม ก๊าซดังกล่าวจะระเหยขึ้นมาจากดิน และเป็นสารก่อให้เกิดมะเร็งปอดได้
  • สารอื่นๆ เช่น โครเมียม นิกเกิล ฝุ่นจากอุตสาหกรรมหนัก ไอสารระเหยน้ำมัน เขม่าควันต่างๆ รวมถึงมลภาวะทางอากาศที่ไม่บริสุทธิ์

               3. โภชนาการที่ไม่เหมาะสม การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำจะส่งผลให้การดูดซึมสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายลดลง ทั้งยังสร้างความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดด้วย

               4. ขาดการออกกำลังกาย ผู้ป่วยมะเร็งปอดส่วนใหญ่มักขาดการออกกำลังกาย

               5. ประวัติของการเกิดโรคที่ปอดหรือโรควัณโรค โดยมากมักพบว่าผู้ที่มีปัญหาทางปอดหรือมีประวัติวัณโรคมาก่อน มีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งปอดได้มากกว่าคนทั่วไป

แนวทางการรักษามะเร็งปอดในระยะต่างๆ

              ในการรักษามะเร็งปอดนั้น ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยประเภทของมะเร็งปอด รวมทั้งระยะของโรคเพื่อเป็นแนวทางในการดูแลและการรักษาที่ถูกต้อง ดังนี้

         1. มะเร็งปอดชนิดเซลตัวเล็ก (Small cell lung cancer)

         แบ่งการรักษาออกได้เป็น 2 ระยะ คือ

         1.1 ระยะเริ่มต้นการค้นพบมะเร็ง (Limited-stage small cell lung cancer) ระยะนี้ คือระยะที่พบว่าเซลมะเร็งเกิดขึ้นที่บริเวณปอดข้างใดข้างหนึ่ง รวมถึงเนื้อเยื่อระหว่างปอด หรือใกล้ต่อมน้ำเหลือง การรักษาสามารถทำได้ดังนี้

  • การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) พร้อมการฉายรังสี (Radiotherapy) เรียกว่า Concomitant Chemo Radiation
  • การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด และตามด้วยการฉายรังสี เรียกว่า Sequential Chemo Radiation
  • การผ่าตัดเซลมะเร็งปอดร่วมกับการใช้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี

          1.2 ระยะแพร่กระจายของมะเร็ง (Extensive-stage small cell lung cancer) มะเร็งระยะนี้จะมีการแพร่กระจายของเซลมะเร็งไปมากเกินกว่าปอดข้างใดข้างหนึ่ง และอาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายด้วย การรักษามะเร็งปอดในระยะนี้สามารถทำให้โดย

การใช้ยาเคมีบำบัด

การรักษาด้วยการใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสี

การฉายรังสีที่อวัยวะอื่นของร่างกายที่มีเซลมะเร็งแพร่กระจายไปและมีอาการ

การรักษาแบบประคับประคองอาการ (Palliative care)

         2. การรักษามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลตัวเล็ก (N0n-small cell lung cancer)

         เนื่องจากเซลมะเร็งชนิดนี้พบได้มาก การรักษาโดยส่วนใหญ่จึงเป็นการควบคุมปัองกันการแพร่กระจาย หรือการลุกลามของเซลมะเร็งไปยังอวัยวะส่วนอื่น ซึ่งอาจจะรักษาให้หายขาดได้ในระยะเริ่มต้น

         การรักษามะเร็งปอดในระยะนี้ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยถึงระยะของโรคก่อน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ

ระยะที่ 1

ระยะที่ 1A เซลมะเร็งขนาดเล็กยังไม่มีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะบริเวณใกล้เคียง

ระยะที่ 1B เซลมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีการลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง แต่ยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง

การรักษา : การผ่าตัดเป็นการรักษาหลัก แต่ในรายที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ อาจใช้การฉายรังสีร่วมกับยาเคมีบำบัด หรือการฉายรังสีอย่างเดียว โดยขึ้นอยู่กับสมรรถภาพทางร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย

ระยะที่ 2

ระยะที่ 2A เซลมะเร็งมีขนาดเล็กแต่มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง

ระยะที่ 2B เซลมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีการลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง

การรักษา : การผ่าตัดเป็นการรักษาหลัก ภายหลังการผ่าตัดแล้วผู้ป่วยบางรายต้องทำการรักษาเสริมด้วยยาเคมีบำบัดเพื่อยับยั้งหรือควบคุมเซลมะเร็ง สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้จะใช้วิธีการฉายรังสีร่วมกับยาเคมีบำับัด

ระยะที่ 3

ระยะที่ 3A เป็นระยะที่เซลมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นมีการลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง และ/หรือมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง แต่ยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย

ระยะที่ 3B เป็นระยะที่เซลมะเร็งได้ลุกลามสู่อวัยวะใกล้เคียงมากขึ้น และ/หรือมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง รวมทั้งอาจมีการแพร่กระจายไปยังเยื่อบุปอด ทำให้เกิดการขังของสา่รน้ำในช่้องเยื่อหุ้มปอด

การรักษา : การรักษาในระยะนี้ อาจต้องใช้การรักษาทั้งการผ่าตัด การใช้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสีร่วมกัน และหากเป็นในระยะ 3B การผ่าตัดไม่สามารถทำได้ แพทย์ต้องทำการรักษาตามการแพร่กระจายของเซลมะเร็งในส่วนต่างๆ โดยการใช้ยาเคมีบำบัด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีสมรรถภาพที่แข็งแรง นอกจากนี้ หากการใช้ยาเคมีบำบัดไม่ได้ผลอาจจะต้องใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงกับเซลมะเร็ง (Targeted Therapy) ในการรักษาร่วมด้วย

ระยะที่ 4

เป็นระยะที่เซลมะเร็งกระจายไปตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น กระดูกและตับ เป็นต้น

การรักษา : มะเร็งปอดระยะนี้ไม่สามารถทำการรักษาแบบผ่าตัดได้ แพทย์ต้องใช้การรักษาเซลมะเร็งที่ลุกลามไปตามอวัยวะสำคัญของร่างกาย เพื่อลดอาการผู้ป่วยและประคับประคองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี การรักษาหลักคือการใช้ยาเคมีบำบัด หรือยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงกับเซลมะเร็ง และเน้นการรักษาแบบประคับประคอง โดยขึ้นอยู่กับสมรรถภาพร่างกายของผู้ป่วยเป็นหลัก

เรียนรู้วิธีการรักษามะเร็งปอด

         1. การผ่าตัด (Surgery) คือ การผ่าตัดก้อนเซลเนื้อเยื่อที่เติบโตผิดปกติที่ปอดและบริเวณต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงที่ช่องอกออกให้หมด อาจผ่าตัดออกเป็นกลีบหรือผ่าตัดปอดในแต่ละข้างออก

         การผ่าตัดเหมาะกับมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นที่ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็ก และยังไม่แพร่กระจายลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ไม่แนะนำวิธีการผ่าตัดกับเซลมะเร็งชนิดเซลมะเร็งชนิดเซลตัวเล็กเป็นวิธีแรกในการรักษาไม่ว่าระยะใดก็ตาม

         ภายหลังการผ่าตัดอาจทำให้การทำงานของปอดผิดปกติได้ในบางคน ซึ่งความผิดปกติอาจมีความรุนแรงแตกต่างกัน จึงควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์เกี่ยวกับการดูแลตนเองหลังผ่าตัด

         2. การใช้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) คือ การรักษาโดยการใช้ยายับยั้งหรือทำลายเซลมะเร็ง ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงไปถึงเซลปกติด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลที่มีการเจริญเติบโตได้เร็ว เช่น เส้นผม และเล็บ จึงอาจทำให้ผมร่วง นอกจากนี้ ยาเคมีบำบัดอาจกดระบบภูมิคุ้มกันทำให้มีระดับเม็ดเลือดขาวต่ำกว่าปกติ ซึ่งอาการข้างเคียงต่างๆ สามารถแก้ไขได้โดยคำแนะนำของแพทย์

         วิธีการรักษาแบบนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีสมรรถภาพร่างกายไม่พร้อมกับการผ่าตัด โดยใช้ร่วมกับรังสีรักษา หรือการรักษาโรคมะเร็งในระยะที่มีการแพร่กระจายไปบริเวณข้างเคียงของปอดหรืออวัยวะอื่นๆ แล้ว ทั้งยังเป็นการรักษาเสริมภายหลังการผ่าตัดที่อาจมีเซลมะเร็งหลงเหลือ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

         การรักษาแบบนี้ผู้ป่วยต้องได้รับการให้ยาในโรงพยาบาลเนื่องจากเป็นยาฉีดและต้องได้รับยาจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เท่านั้น

         3. การรักษาโดยยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลมะเร็ง (Targeted Therapy) ปัจจุบันได้มีการพัฒนายาชนิดใหม่ที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลมะเร็ง โดยไม่ส่งผลต่อเซลปกติ ผลคือให้ประสิทธิภาพสูงในการบำบัดและไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่นผมร่วง เล็บหลุด อ่อนเพลีย โลหิตจางเหมือน ยาเคมีบำบัด ทั้งยังเป็นยาที่สามารถรับประทานได้ทันที โดยไม่ต้องพักในโรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยและแพทย์สะดวกในการรักษาอย่างต่อเนื่อง

         4. การฉายรังสี (Radiotherapy) คือ การใช้พลังงานรังสีที่มีความเข้มข้นฉายไปยังตำแหน่งของเซลมะเร็งเพื่อทำลายเซลมะเร็ง การฉายรังสีใช้ระยะเวลาสั้นและไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด แต่อาจส่งผลกระทบต่อเซลปกติทำให้เกิดผลข้างเึคียงต่อผู้ป่วย เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และหากการฉายรังสีเกิดขึ้นที่คอหรือกลางช่องอก ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บคอ กลืนอาหารหรือน้ำลำบาก นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ระคายเคืองผิวหนัง โดยทั่วไปอาการข้างเคียงดังกล่าวสามารถแก้ไขหรือลดความรุนแรงลงได้ เมื่อได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมจากแพทย์รังสีรักษา

         โดยปกติการฉายรังสีรักษาจะใช้ในกรณีที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ โดยจะให้การรักษาอย่างเดียว หรือร่วมกับยาเคมีบำบัด ขึ้นอยู่กับสมรรถภาพของผู้ป่วย และยังได้ประโยชน์ในการลดอาการต่างๆ ของผู้ป่วย เช่น มะเร็งอุดหลอดลม มะเร็งกดเส้นเลือดดำ

ดูแลตัวเองอย่างไร

         สิ่งสำคัญของการดูแลรักษามะเร็งได้ดีที่สุดคือ การมีกำลังใจที่ดี มีจิตใจที่เข้มแข็ง ทั้งจากตนเองและคนรอบข้าง เมื่อคุณทราบว่าเป็นมะเร็งปอดไม่ควรตกใจหรือกังวลมากจนเกินไป แต่ควรหันมาดูแลตนเองให้มากขึ้นและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ดังนี้

  1. รับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์
  2. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ไม่จำเป็นต้องงดอาหารประเภท เนื้อสัตว์ (ควรงดทานอาหารรสจัด เช่นเค็ม เผ็ด เพราะจะทำให้ตับและไตทำงานหนัก และส่งผลให้มะเร็งโตเร็วด้วย)
  3. อาจรับประทานยาผสมกับน้ำผลไม้หรือเครื่องดื่มอื่นเพื่อให้รสชาติดีขึ้น แต่ควรปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ก่อน
  4. บำรุงร่ายกายด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างสมดุลและเหมาะสม จะช่วยให้ผู้ป่วยต่อสู้กับโรคต่างๆ ได้ดีขึ้น โดยอาจมีการนำไปปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับอาหารเสริมประเภทต่างๆ (แพทย์บางท่านอาจบอกว่าไม่ต้องรับประทานก็ได้ กินแล้วฉี่แพง ส่วนผมเห็นว่าควรใช้ครับ เพราะผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารได้มากและครบ 5 หมู่อย่างแน่นอน คนปกติยังทำไม่ได้เลยครับ)
  5. นอกเหนือจากสิ่งที่แพทย์แนะนำแล้ว ผู้ป่วยควรทำกิจวัตรประจำวันตามปกติ
  6. ภายหลังการให้ยาเคมีบำบัดผู้ป่วยจำเป็นต้องพักผ่อน 1-2 วัน หากมีอาการอ่อนเพลียเป็นระยะเวลานานกว่านี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์
  7. หากมีอาการมึนงง หนาวสั่น หายใจไม่ออก มีไข้สูง ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  8. หากมีภาวะโลหิตจางควรพักผ่อนให้มาก และรับประทานอาหารจำพวกผักใบเขียว เนื้อสัตว์ และตับเพิ่ม ที่สำคัญควรเคลื่อนไหวร่างกายอย่างช้าๆ

การดูแลผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด

  1. ผู้ป่วยอาจปรับเปลี่ยนนิสัยการรับประทานอาหาร โดยรับประทานครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยมื้อ และไม่ควรรับประทานอาหารร้อนจัด หวานจัด เผ็ด หรือเค็ม เลี่ยงอาหารมัน-ทอด รวมทั้งอาหารที่มีกลิ่นแรง เพื่อลดอาการคลื่นไส้อาเจียน
  2. หากมีอาการท้องร่วงให้รับประทานอาหารที่เป็นของเหลวใสเพื่อให้ย่อยง่าย ควรดื่มน้ำหรือของเหลวให้มากเพื่อทดแทนในส่วนที่สูญเสียไป หลีกเลี่ยงนมและอาหารที่ทำ่จากนม เพราะจะทำให้มีอาการแย่ลง (เพราะบางท่านอาจมีอาการแพ้โปรตีนบางชนิดในนมที่ทำให้ท้องเสีย)
  3. ควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อจะช่วยให้ลำไส้เคลื่อนไหวง่าย และรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง
  4. ยาเคมีบำบัดอาจทำให้มีอาการปากคอแห้ง การรับประทานของเหลวหรืออาหารที่มีน้ำผสมมากจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น หากมีแผลเปื่อยในปากและลำคอ ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน

การดูแลผู้ป่วยโดยคนใกล้ชิดหรือครอบครัว

                มะเร็งปอดสามารถที่จะแสดงอาการได้ตลอดเวลา และยังเป็นโรคที่ต้องใช้เวลาในการรักษายาวนาน จึงอาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้ใกล้ชิดหรือคนรอบข้างผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน หรือผู้ดูแล การปฏิบัติต่อผู้ป่วยนั้นควรปฏิบัติเช่นเดียวกับการดูแลเด็กเล็กทั่วไป ด้วยการให้ความรักความเข้าใจและความใกล้ชิดให้มาก ดังนี้

  1. ผู้ป่วยควรเล่าประสบการณ์หรือปัญหาให้กับผู้ดูแลหรือผู้ใกล้ชิด ควรมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้และประสบการณ์กับครอบครัวที่มีผู้ป่วยมะเร็งปอดเหมือนกัน เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
  2. อย่าปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่คนเดียวบ่อยๆ หรือเป็นเวลานานเกินไป เพราะอาจจทำให้ผู้ป่วยเกิดโรคซึมเศร้า หรือทำให้ผู้ป่วยกลับไปคิดกังวลเรื่องอาการป่วย
  3. เชิญเพื่อนบ้าน เพื่อนๆ หรือเพื่อนที่รู้จักที่โรงพยาบาล มาทำกิจกรรมร่วมกันหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์และทัศนคติที่ดีต่อกัน
  4. สร้างทัศนคติที่ดีให้กับผู้่ป่วยและบุคคลในครอบครัว
  5. พาผู้ป่วยไปพบแพทย์ตามกำหนดเวลา รวมทั้งรับข้อมูลที่จำเป็นในการดูแลผู้ป่วย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ดูแลและครอบครัว หากมีปัญหาควรปรึกษาหรือสอบถามแพทย์
  6. ทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยวพักผ่อนในสถานที่ที่สะดวกต่อการเดินทางทั้งครอบครัว
  7. ควรให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในกิจกรรมประจำวันของผู้ดูแลและครอบครัวด้วยเสมอ
  8. สร้างบรรยากาศในที่พักอาศัยให้สดชื่น สวยงาม อาจมีการปรับเปลี่ยน หรือตกแต่งที่พักให้สวยงาม เช่น การจัดสวน การจัดบ้าน เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

บริษัท โรช ไทยแลนด์ จำกัด